icon-coral

สถานการณ์ปะการังฟอกขาว ปี พ.ศ. 2564

          ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวที่มีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลนั้น เป็นปัจจัยคุกคามที่สำคัญของปะการัง สามารถสร้างความเสียหายปะการังครอบคลุมพื้นที่ได้โดยกว้าง มีรายงานการเกิดปะการังฟอกขาวในประเทศไทยหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 แต่ละครั้งมีความรุนแรงต่างกันไป ครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งได้ทำลายปะการังในหลายพื้นที่และปะการังมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 90 ในบางพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น มีการศึกษาว่าปะการังฟอกขาวมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยในปี พ.ศ. 2564 เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวขึ้นหลังจากที่เคยเกิดครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2563 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเครือข่ายต่าง ๆ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัย และนักดำน้ำอาสาสมัคร ได้ดำเนินการสำรวจ และรายงานสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฟอกขาว และได้ติดตามสถานการณ์ฟอกขาว จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 

          ตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ทำการคาดการณ์การเกิดปะการังฟอกขาวจากข้อมูลสมุทรศาสตร์ และสถานะของปรากฏการณ์ El Niño Southern Oscillation ซึ่งบ่งชี้โดยค่าดัชนี Oceanic Nino Index (ONI) พบว่า อุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณกลางมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าปกติตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2563 โดยพบว่าค่า ONI ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 มีค่า -1.1 บ่งชี้ถึงการเข้าสู่สถานะ Cold phase หรือปรากฏการณ์ La Niña ทั้งนี้ ลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลโดยเฉพาะในทะเลอันดามัน มีแนวโน้มมีค่าต่ำกว่าปกติในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ ลักษณะดังกล่าวอาจบ่งชี้แนวโน้มการเปลี่ยนทิศทางลมมรสุมเร็วขึ้น สอดคล้องกับแบบจำลองของ NOAA และจากระบบที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพัฒนาขึ้นมา ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ปรากฏแนวโน้มการเกิดปะการังฟอกขาวในน่านน้ำไทยในปี พ.ศ. 2564 หรือหากเกิดขึ้นจะอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง รวมถึงทำการประชุมเพื่อวางมาตรการรับมือปะการังฟอกขาวที่สามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาหรือลดผลกระทบจากสถานการณ์การฟอกขาวต่อปะการังในระดับต่าง ๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ระยะการฟอกขาวเล็กน้อย ใช้มาตรการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจจะส่งผลทำให้สถานการณ์ของแนวปะการังที่เริ่มฟอกขาวเสื่อมโทรมลง หรือทำให้ปะการังเกิดการอ่อนแอลง 2) ระยะฟอกขาวปานกลาง ใช้มาตรการลดกิจกรรมที่ดำเนินการในแนวปะการังโดยตรง 3) ระยะการฟอกขาวรุนแรงใช้มาตรการงดเว้นกิจกรรมในบริเวณที่มีการฟอกขาวรุนแรง ดำเนินการปิดพื้นที่

          ผลการรวบรวมและติดตามข้อมูลการเกิดปะการังฟอกขาวตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 พบว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ปี พ.ศ. 2564 มีลักษณะคล้ายกับปี พ.ศ. 2563 นั่นคือ ฝั่งอ่าวไทย ปะการังเริ่มมีสีจางลงและฟอกขาวในบางพื้นที่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะพื้นที่ที่แนวปะการังโผล่พื้นน้ำในช่วงน้ำลง ได้แก่ หาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี (สำรวจเฉพาะปะการังที่โผล่พ้นน้ำ) เกาะมันใน หาดพลา จังหวัดระยอง แหลมแสมสาร หาดค่ายเจษฎาราชเจ้า จังหวัดชลบุรี ซึ่งส่งผลให้ปะการังส่วนที่โผล่พ้นน้ำดังกล่าวตายลงไปบางส่วน แต่ปะการังที่อยู่ใต้น้ำตลอดเวลาฟอกขาวเพียงเล็กน้อย ในขณะที่แนวปะการังฝั่งอันดามันได้รับผลกระทบจากปะการังฟอกขาวน้อยมาก ไม่มีรายงานสถานีที่พบปะการังฟอกขาว พบเพียงปะการังมีสีจางลงเล็กน้อยในบางพื้นที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเล ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน จากสถานีติดตามอุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณชายฝั่ง พบว่าอุณหภูมิน้ำเฉลี่ยในเดือนมิถุนายนลดลงอย่างชัดเจนทั้งสองฝั่งทะเล หลังจากที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยมีอุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ยในเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ที่สถานีเกาะมันใน จังหวัดระยอง อยู่ที่ 31.4 °C, 30.5 °C, 31.9 °C และ 30.8 °C ตามลำดับ