icon-coral

การแปรผันอุณหภูมิน้ำทะเลในรอบปี และช่วงเดือนเฝ้าระวังปะการังฟอกขาว

การผันแปรอุณหภูมิน้ำทะเล และระดับน้ำทะเลรายเดือนเฉลี่ยในรอบปี

และช่วงเดือนเฝ้าระวังการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมในรอบปี

 

การเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในประเทศไทย อาจได้รับปัจจัยกระตุ้นจากอุณหภูมิน้ำทะเล และระดับน้ำทะเล ซึ่งเพิ่มระดับความเสี่ยงต่อการเกิดปะการังฟอกขาว อุณหภูมิน้ำทะเลนั้นถือเป็นปัจจัยหลักที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดการฟอกขาวได้อย่างรุนแรงและส่งผลกระทบในวงกว้าง ดังที่ปรากฏในช่วงปีสอดคล้องกับช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโน่ และอุณหภูมิน้ำทะเลในน่านน้ำไทยมีค่าสูงขึ้นอย่างมาก สำหรับระดับน้ำทะเลนั้น ในเขตแนวปะการังที่มีการโผล่พ้นน้ำในช่วงเวลาหนึ่งในรอบวัน เมื่อระดับน้ำลงต่ำสุด เมื่อพิจารณาร่วมกับระดับน้ำรายฤดูกาลที่จะมีการลดระดับในช่วงบางช่วงฤดูกาลของปีแล้ว อาจส่งผลให้การโผล่พ้นน้ำนั้นมีระยะเวลาที่ยาวนานกว่าปกติได้ในบางปี ลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการเพิ่มความเสี่ยงของปะการังที่จะฟอกขาว เนื่องจากการเปิดรับ (Exposure) แสงและความร้อนได้นานขึ้น

จากอุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลตรวจวัดจากดาวเทียม ค่าเฉลี่ยรายเดือนในช่วง 14 ปี (ระหว่างปี ค.ศ.2007-2020) คำนวณจากชุดข้อมูล the GHRSST Level 4 OSTIA Global Foundation Sea Surface Temperature Analysis dataset (UK Met Office, 2005) พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลจะมีค่าสูงสุดในระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ทั้งนี้ การสะสมความร้อนในน้ำทะเล น่าจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ดังนั้น การติดตามปัจจัยเสี่ยงเนื่องจากอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น จึงอาจเริ่มพิจารณาได้ตั้งแต่เดือนดังกล่าว

 

รูปที่ 1 อุณหภูมิน้ำทะเลรายเดือนเฉลี่ยในช่วง 14 ปี จากชุดข้อมูล the GHRSST Level 4 OSTIA Global Foundation Sea Surface Temperature Analysis dataset (UK Met Office, 2005)
 
สำหรับระดับน้ำทะเล เมื่อพิจารณาจากชุดข้อมูล Ssalto/Duacs Sea Level Anomaly ที่แจกจ่ายโดย Copernicus Marine (CMEMS) (https://marine.copernicus.eu/) พบว่า ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยและในทะเลอันดามัน มีรูปแบบการเปลี่ยนแปลงรายฤดูกาลที่แตกต่างกัน โดยในอ่าวไทย ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยรายฤดูกาลจะลดลงต่ำสุดในระหว่างช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ในขณะที่ฝั่งทะเลอันดามัน ระดับน้ำทะเลจะลดลงต่ำสุดในระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม
 

รูปที่ 2 ระดับน้ำทะเลรายเดือนเฉลี่ยในช่วง 27 ปี จากชุดข้อมูล Ssalto/Duacs Sea Level Anomaly ที่แจกจ่ายโดย Copernicus Marine (CMEMS) (https://marine.copernicus.eu/