icon-coral

ผลกระทบต่อปะการัง

          ผลกระทบต่อปะการัง การที่ปะการังอยู่ในสภาวะฟอกขาวต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ทำให้ปะการังค่อยๆ ตายไป โดยเฉพาะปะการังในสกุล Acropora spp. เป็นพวกที่เริ่มตายก่อนชนิดอื่นๆ หลังจากที่ฟอกขาวได้ 1 เดือน ปะการังชนิดอื่นค่อยๆ ทยอยตายตามไป ต่อมาในตอนปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.2553 อุณหภูมิเริ่มลดลงมาอยู่ที่ 29 องศาเซลเซียสเศษ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่กลับเข้าสู่ภาวะเกือบปกติ ปะการังโขด (Porites lutea) ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของแนวปะการัง เป็นพวกแรกที่เริ่มมีสีน้ำตาลกลับคืนมา แสดงให้เห็นการฟื้นตัวที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ประมาณได้ว่าปะการังโขดที่ฟอกขาวสามารถฟื้นตัวได้ราว 50-75% (นั่นคือ ประมาณหนึ่งในสี่ถึงครึ่งหนึ่งได้ตายไป)

          แนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 มีความสมบูรณ์มาก แต่หลังจากเกิดการฟอกขาว ได้ดำเนินการตรวจสอบซ้ำในเดือนธันวาคม พ.ศ.2553 พบว่าแนวปะการังกลับอยู่ในสภาพเสียหายมาก ในขณะที่กลุ่มปะการังเขากวางและปะการังโต๊ะ (Acropora spp.) ในแนวปะการังบริเวณเกาะสิมิลัน ตายเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ปะการังโขด (Porites lutea) เริ่มกลับมามีสีน้ำตาล เมื่ออุณหภูมิน้ำลดลงสู่ปกติ ในปลายเดือนมิถุนายน (ซ้าย) และจากการประเมินในหลายพื้นที่ พบว่าปะการังโขด (P. lutea) ตายจากการฟอกขาว 25-50% (ขวา)

แนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 มีความสมบูรณ์มาก (ซ้าย) หลังจากเกิดการฟอกขาวทำให้แนวปะการังกลับอยู่ในสภาพเสียหายมาก (ขวา)