สถานการณ์ กันยายน 2553 แนวปะการังตามเวิ้งอ่าวทางฝั่งตะวันตกของเกาะต่างๆ ทางฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับอิทธิพลจากคลื่นใต้น้ำ (internal waves) เป็นครั้งคราว ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลไม่สูงตลอดเวลา ผลกระทบจากปะการังฟอกขาวจึงไม่รุนแรงมาก ทำให้มีปะการังมีชีลิตรอดอยู่ได้มากกว่าชายฝั่งด้านอื่นของเกาะ และจากการสำรวจในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายพื้นที่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะที่หมู่เกาะพีพี (จังหวัดกระบี่) เกาะ-ราชา (จังหวัดภูเก็ต) เกาะไข่นอก และหมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน (จังหวัดพังงา) พบว่าในแนวปะการังแต่ละแห่งได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวและเกิดความเสียหายค่อนข้างมาก
แนวปะการังตามเวิ้งอ่าวทางฝั่งตะวันตกของเกาะต่างๆ ทางฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับอิทธิพลจากคลื่นใต้น้ำ (internal waves) ผลกระทบจากปะการังฟอกขาวจึงไม่รุนแรงมาก
จากตารางจะเห็นว่า จากการสำรวจในสถานีศึกษาจำนวน 27 แห่ง มีปะการังที่มีชีวิตเหลืออยู่ในช่วง 0.1 – 66.3% (เฉลี่ย 13.9%+13.33 ) อัตราการตายของปะการัง (คิดเป็นเปอร์เซ็นต์สัมพัทธ์กับปริมาณปะการังที่มีชีวิตที่มีอยู่เดิม) กระจายอยู่ในช่วง 26 – 100% (เฉลี่ย 68.8%+22.5) โดยมีข้อสังเกตว่าแหล่งที่ได้รับผลกระทบน้อยมากคือที่อ่าวฝั่งตะวันตก (อ่าวพลับพลา) ของเกาะราชาใหญ่ อ่าวฝั่งทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะปายู ทั้งสองแห่งนี้มีปะการังสีน้ำเงิน (Heliopora coerulea) เป็นชนิดที่ขึ้นเด่นในพื้นที่ (dominant species) ซึ่งปะการังชนิดนี้สามารถต้านต่อการฟอกขาวได้ดี อ่าวที่พบผลกระทบจาการฟอกขาวค่อนข้างน้อยอีกแห่งหนึ่งคือ อ่าวลาน้า ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะพีพีดอน ในอ่าวแห่งนี้ยังพบปะการังกลุ่มเขากวางและปะการังโต๊ะ (Acropora spp.) เหลืออยู่ค่อนข้างมาก ในขณะที่พื้นที่อื่นปะการังในสกุลนี้หลงเหลืออยู่น้อยมากหลังจากการฟอกขาว สาเหตุที่ปะการังในอ่าวลาน้าได้รับผลกระทบไม่รุนแรงมากนัก อาจเนื่องจากเป็นจุดที่รับคลื่นและมวลน้ำที่พัดมาจากทะเลเปิดทางฝั่งตะวันตก ทำให้อุณหภูมิไม่สูงตลอดเวลา ซึ่งลักษณะนี้ยังพบที่อ่าวฝั่งตะวันตกของเกาะราชาใหญ่ และในเวิ้งอ่าวตามหมู่เกาะสิมิลัน และยังมีข้อน่าสังเกตอีกแห่งหนึ่ง คือที่เกาะราชาใหญ่ฝั่งตะวันออกตอนกลาง มีอัตราการตายค่อนข้างน้อยเช่นกัน แท้ที่จริงแล้ว บริเวณนี้มีปะการังโขด (Porites lutea) เป็นชนิดเด่น พบว่ามีการฟอกขาวมาก แต่มีการฟื้นตัวได้ดีเมื่ออุณหภูมิน้ำลดลง
ตารางปริมาณปกคลุมพื้นที่ (%) ของปะการังที่มีชีวิตก่อนและหลังการฟอกขาวปี พ.ศ.2553 และอัตราการตาย ของปะการัง (%) ณ สถานีสำรวจซึ่งเป็นแปลงสำรวจถาวรที่มีการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
สถานที่ | % ปกคลุมพื้นที่ของปะการังที่มีชีวิต | % การตาย | |
---|---|---|---|
ก่อนฟอกขาว | หลังฟอกขาว | ||
หมู่เกาะสุรินทร์ | |||
เกาะสต็อด | 35 | 7.4 | 78.9 |
เกาะสุรินทร์เหนือ หน้าช่องแคบ ตอนใน | 50.3 | 3.2 | 93.6 |
เกาะสุรินทร์เหนือ อ่าวแม่ยายทิศเหนือ | 80 | 0.1 | 99.9 |
เกาะสุรินทร์เหนือ อ่าวทรายแดง | 34.7 | 8.4 | 75.8 |
เกาะสุรินทร์เหนือ อ่าวไม้งาม | 50 | 12.5 | 75.0 |
เกาะสุรินทร์ใต้ ฝั่งตะว้ันออก (อ่าวเต่า) | 73.2 | 11 | 85.0 |
เกาะปาชุมบา ตะวันออกเฉียงเหนือ | 22 | 1.1 | 95.0 |
เกาะตอรินลา ตะวันออกเฉียงใต้ | 22.5 | 4.7 | 79.1 |
เกาะตาชัย ตะวันออกเฉียงใต้ | 53.9 | 8.6 | 84.0 |
หมู่เกาะสิมิลัน | |||
เกาะสิมิลัน ตะวันออก หน้าประภาคาร | 57.8 | 6.2 | 89.3 |
เกาะสิมิลัน เวิ้งอ่าวตะวันตก | 28.1 | 11.1 | 60.5 |
เกาะบางู ทิศใต้ | 16.6 | 6.5 | 60.8 |
เกาะปายู ตะวันออกเฉียงเหนือ | 39.8 | 29.5 | 25.9 |
เกาะปายู เวิ้งอ่าวตะวันตก | 29.3 | 14.8 | 49.5 |
หมู่เกาะพีพีและเกาะใกล้เคียง | |||
อ่าวหยงกาเส็ม เกาะพีพีดอน | 40 | 19.4 | 51.5 |
อ่าวลาน้า เกาะพีพีดอน | 19.4 | 12.7 | 34.5 |
แหลมตง เกาะพีพีดอน | 51.7 | 32.8 | 36.6 |
อ่าวต้นไทร ตะวันตก | 61 | 3.1 | 94.9 |
เกาะยูง | 58.9 | 6.8 | 88.5 |
เกาะไผ่ ตะวันออก | 67.4 | 22 | 67.4 |
เกาะไผ่ ตะวันตกเฉียงใต้ | 36.5 | 14.9 | 59.2 |
เกาะไข่นอก | 50.2 | 15.8 | 68.5 |
เกาะบริวารของภูเก็ต | |||
เกาะแอว ตะวันตกเฉียงเหนือ | 61.7 | 18.6 | 69.9 |
เกาะราชาใหญ่ ตะวันออกตอนบน | 33.3 | 20.5 | 38.4 |
เกาะราชาใหญ่ ตะวันออกตอนกลาง | 25.3 | 17.5 | 30.8 |
เกาะราชาใหญ่ อ่าวทิศเหนือ | 42.3 | 1.4 | 96.7 |
เกาะราชาใหญ่ อ่าวตะวันตก | 61 | 66.3 | - |
หมายเหตุ
1.แปลงสำรวจ เป็นแปลงขนาดยาว 100 เมตร อยู่บนโซนลาดชัน (reef slope) ณ ความลึกที่แตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง (เฉลี่ยอยู่ในช่วง 3-10 เมตร)
2.ข้อมูลก่อนการฟอกขาว สำรวจในช่วงต้นปี พ.ศ. 2553 (ยกเว้นของกลุ่มเกาะสิมิลัน ซึ่งสำรวจในปลายปี พ.ศ.2550) ข้อมูลหลังการฟอกขาว สำรวจในช่วงปลายปี พ.ศ.2553 จากการที่แนวปะการังได้รับความเสียหายจากการฟอกขาวอย่างรุนแรงในปี พ.ศ.2553 นี้ ทำให้สภาพแนวปะการังเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก แนวปะการังหลายแห่งเปลี่ยนจากสภาพสมบูรณ์ไปเป็นสภาพเสียหายมาก การฟื้นตัวของแนวปะการังจะเกิดขึ้นได้โดยขบวนการทางธรรมชาติ โดยโคโลนีของปะการังที่ยังหลงเหลืออยู่เจริญเติบโตต่อไป และจากการเข้ามาลงเกาะใหม่ของตัวอ่อนปะการัง ซึ่งอาจเป็นตัวอ่อนที่ได้จากแม่พันธุ์ที่อยู่ภายในแนวปะการังนั้น หรือมาจากแหล่งอื่นที่อยู่ใกล้เคียงหรือห่างไกลออกไป ดังนั้นการจัดการพื้นที่จึงต้องครอบคลุมเป็นพื้นที่กว้าง เพราะแนวปะการังถึงแม้มิใช่เป็นผืนเดียวกัน แต่ก็มีความเชื่อมโยงกัน เพราะต้องอาศัยตัวอ่อนที่แพร่กระจายไปตามกระแสน้ำ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังครั้งนี้ แน่นอนที่สุดในแต่ละพื้นที่ใช้เวลาแตกต่างต่างกันในการฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพดีดังเดิม จากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวในปี พ.ศ.2534 และ 2538 ที่ก่อให้เกิดความเสียหายค่อนข้างรุนแรง (แต่รุนแรงน้อยกว่าปี พ.ศ.2553 มาก) แนวปะการังใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ถึงจะมีปะการังสภาพดีขึ้นได้ แต่นั่นก็ต้องเป็นแหล่งที่มีการรบกวนจากมนุษย์น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ถึงแม้ว่ามีการฟื้นตัวเกิดขึ้น แต่องค์ประกอบของประชาคม (coral community) อาจจะเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น กรณีของแนวปะการังบริเวณชายฝั่งหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ที่เคยมีปะการังเขากวางเด่นบนโซนลาดชัน (ณ ระดับความลึก 8 – 15 ม.) เมื่อได้รับความเสียหายจากการฟอก-ขาวในปี พ.ศ.2538 ทำให้ปะการังเขากวางตายไปมาก ซึ่งจากการติดตามสำรวจในจุดเดียวกันอย่างต่อเนื่อง พบว่าแนวปะการังนั้นใช้เวลานานเกือบ 20 ปีจึงจะมีปะการังที่มีชีวิตขึ้นได้หนาแน่นเหมือนก่อนหน้าที่จะได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวในปี พ.ศ.2534 การสำรวจหลังการฟอกขาวของปะการังคราวนี้ ได้พบโคโลนีวัยอ่อน (ขนาดเล็กกว่า 5 ซม.) ของปะการังในสกุล Acropora spp. ขึ้นในหลายพื้นที่ แสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมในแนวปะการังเหล่านั้นยังอยู่ในสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการลงเกาะและการเจริญเติบโตของตัวอ่อน มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่น่าเป็นห่วง คือบริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะเมียง (หาดเล็ก) ซึ่งไม่พบปะการังวัยอ่อนเลย แต่กลับพบว่ามีสาหร่ายในกลุ่ม blue-green algae (cyanobacteria) ขึ้นคลุมบนซากปะการังที่ตายจากการฟอกขาว สิ่งนี้ เป็นข้อบ่งชี้ถึงมวลน้ำที่ไม่สะอาด สาเหตุอาจเกิดจากของเสียที่ถูกถ่ายเทลงน้ำ โดยเฉพาะของเสียจากเรือที่จอดอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณนั้น รวมทั้งอาจเป็นของเสียที่ไหลซึมผ่านชั้นดินเนื่องจากพื้นที่นั้นไม่ไกลจากที่พักของนักท่องเที่ยว ฉะนั้นการจัดการพื้นที่เพื่อให้คุณภาพน้ำดีเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทางอุทยานแห่งชาติต้องจัดการ
นักวิจัยสำรวจปะการังวัยอ่อน (juvenile coral) ที่เริ่มเจริญเติบโตในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จากปะการังฟอกขาว เป็นปะการังสกุล Acropora (ปะการังเขากวาง) และ Favia (ปะการังวงแหวน)
ในการติดตามศึกษาหลังการฟอกขาวครั้งนี้ ได้ติดตามตรวจสอบการอุบัติของโรค (coral disease) ด้วย พบว่าโรคด่างขาว (white band disease) มักเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) ปะการังที่เกิดโรคด่างขาวจะค่อยๆ ตายไป และยังพบโรคจุดขาว (white spot) มากขึ้นหลังจากเหตุการณ์ฟอก-ขาวผ่านไป โดยโรคนี้มักพบในปะการังโขด (Porites lutea) จะมีการติดตามตรวจสอบต่อไปว่าโรคนี้ทำให้ปะการังตายหรือไม่และระดับของผลกระทบที่เกิดขึ้น
ปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) เกิดโรคแถบขาว(ซ้าย) และปะการังโขด (P. lutea) เกิดโรคจุดขาว(ขวา)