ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่มีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลนั้น เป็นปัจจัยคุกคามที่สำคัญของปะการัง สามารถสร้างความเสียหายปะการังครอบคลุมพื้นที่ได้โดยกว้าง มีรายงานการเกิดปะการังฟอกขาวในประเทศไทยหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 แต่ละครั้งมีความรุนแรงต่างกันไป ครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งได้ทำลายปะการังในหลายพื้นที่และปะการังมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 90 ในบางพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้นจากผลการศึกษาพบว่าปะการังฟอกขาวมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต (Heron et al. , 2016; Sully et al., 2019) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้พัฒนาระบบประเมินการเกิดปะการังฟอกขาวขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เป็นปัจจุบันทั้งจากการลงพื้นที่สำรวจของเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเอง และติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเครือข่ายต่าง ๆ ประกอบด้วยมหาวิทยาลัย และนักดำน้ำอาสาสมัคร ตลอดจนการแจ้งเหตุและให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการและสาธารณะสำหรับการเตรียมพร้อมและรับมือให้แก่ประชาชนและอ้างอิงทางวิชาการ ผ่านทางเว็บไซต์ https://thailandcoralbleaching.dmcr.go.th
การคาดการณ์การเกิดและความรุนแรง
จากข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเล National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) Coral Reef Watch พยากรณ์ว่าปี พ.ศ. 2566 นี้ อาจจะเป็นปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติที่สุดปีหนึ่งและมีแนวโน้มจะเกิดปะการังฟอกขาวในเดือนพฤษภาคมนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเลควบคู่ไปกับลงพื้นที่เก็บข้อมูลสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในประเทศไทย พ.ศ. 2566 มีความรุนแรงในระดับต่ำ โดยสรุปดังนี้
- เมษายน (ช่วงก่อนการฟอกขาว) อุณหภูมิน้ำทะเลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ยังไม่มีรายงานการฟอกขาวพบเพียงปะการังน้ำตื้นมีสีจางลงในบางพื้นที่
- พฤษภาคม – มิถุนายน (ช่วงสูงสุดที่มีการฟอกขาว) อุณหภูมิน้ำทะเลโดยรวมค่อนข้างสูง ปะการังมีสีจางลงในบางพื้นที่ประมาณ 5 – 30% ส่วนใหญ่เป็นปะการังน้ำตื้น พื้นที่ที่มีรายงานฟอกขาวค่อนข้างมากคือจังหวัดระยอง (5 – 30%) และ สูงที่สุดที่หมู่เกาะสุรินทร์ (5 – 60%) และไม่มีรายงา- ปะการังฟอกขาวในบริเวณทะเลอันดามันใต้
- กรกฎาคม 2566 (ช่วงฟื้นตัวหลังการฟอกขาว) อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงสู่ระดับปกติ รวมถึงปะการังที่เกิดการฟอกขาวส่วนใหญ่มีการฟื้นตัว มีเพียงส่วนน้อยที่ตายหลังจากการฟอกขาว
ข้อสังเกต อุณหภูมิน้ำทะเลในประเทศไทยไม่ได้สูงขึ้นมากเหมือนกับทะเลแคริบเบียนที่ได้รับผลกระทบมาจากคลื่นความร้อนจนทำให้เกิดปะการังฟอกขาวและปะการังตายอย่างมาก
ตัวอย่างการติดตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเลควบคู่ไปกับลงพื้นที่เก็บข้อมูล
สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในแต่ละพื้นที่
สถานการณ์ปะการังฟอกขาวภาพรวมทั้งประเทศ
ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน พ.ศ. 2566 (ช่วงที่เกิดปะการังฟอกขาวสูงสุด)
สถานการณ์ปะการังฟอกขาวภาพรวมทั้งประเทศ ระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566
(ช่วงที่ปะการังฟอกขาวกำลังฟื้นตัว) และอุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลในสถานีต่าง ๆ
สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลและปะการังฟอกขาวของประเทศไทยและทั่วโลก