ผลกระทบจากปะการังฟอกขาวปี 2559 มีมากน้อยเพียงไร? สำหรับเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวปี 2559 นั้น พบว่าเกิดขึ้น กินพื้นที่กว้างขวางทั่วประเทศเช่นเดียวกับปี 2553 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ทำแผนรับมือ แบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้
ระยะการเตรียมการ มีการจัดตั้งคณะทำงาน เครือข่ายสำหรับติดตามสำรวจและรายงานสถานการณ์ปะการังฟอกขาว และจัดทำมาตรการสำหรับป้องกันผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในแนวปะการัง มีการจัดทำเว็บไซต์ www.thaicoralbleaching.com เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสาร ช่องทางสำหรับการรายงานผลสำรวจของเครือข่ายอาสาสมัคร ในเว็บไซต์ยังแสดงข้อมูลสภาพภูมิอากาศและทำนายสภาพภูมิอากาศซึ่งลิงค์กับเว็บไซต์ของ NOAA และเว็บไซต์ในโครงการความร่วมมือไทย-จีนรวมทั้งเว็บไซต์ของ สวทช. ที่แสดงอุณหภูมิแบบ near real time ที่เกาะราชาจ. ภูเก็ตนอกจากนั้น ในเว็บไซต์ยังให้ความรู้เกี่ยวปะการังฟอกขาวแก่สาธารณชนอีกด้วย
ระยะที่สอง เป็นการติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเล ซึ่งได้มีการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิในแนวปะการังตามเกาะต่างๆ
ระยะที่สาม เป็นการติดตามประเมินการเกิดปะการังฟอกขาวตามแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับประกาศใช้กฎหมายเพื่อระงับผลกระทบจากมนุษย์ โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่น
ระยะที่สี่ เป็นระยะที่สำรวจประเมินผลกระทบจากปะการังฟอกขาว กล่าวคือประเมินว่าในแต่ละแห่งมีปะการังตายไปจากการฟอกขาวมากน้อยเท่าไหร่ มีการฟื้นตัวมากน้อยเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังมีการทำโครงการฟื้นฟูแนวปะการังในบางพื้นที่
กราฟรูปนี้แสดงอุณหภูมิของน้ำทะเลบริเวณจังหวัดภูเก็ตในช่วงต้นปีถึงกลางปี 2559 เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงต้นเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์อุณหภูมิลดลง ซึ่งเป็นผลจากมีระลอกอากาศหนาวจากประเทศจีนพัดเข้ามา ทำให้การก่อตัวของอุณหภูมิสูงค่อยเบาบางลงได้บ้าง จากกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคมอุณหภูมิยังแกว่งขึ้นลง แต่หลังจากกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นไปอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นจนเกินจุดวิกฤต (30.4 องศาเซลเซียส) อย่างต่อเนื่องจนถึงจุดสูงสุดตอนกลางเดือนเมษายน ปะการังฟอกขาวเริ่มเกิดขึ้นตอนต้นเดือนเมษายน แต่การฟอกขาวครั้งนี้นับว่าโชคดีที่คลื่นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ได้ทำให้ท้องทะเลปั่นป่วน อุณหภูมิค่อยๆลดลงจนอุณหภูมิต่ำกว่าจุดวิกฤตหลังจากต้นเดือนพฤษภาคม แต่ก็ยังมีแกว่งขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตามจากการที่อุณหภูมิลดลง ท้องทะเลปั่นป่วนทำให้แสงแดดส่องถึงปะการังได้น้อยลง ทำให้ปะการังที่กำลังฟอกขาวอยู่นั้นค่อยๆเริ่มเกิดการฟื้นตัวประมาณปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปได้มีการประเมินผลเบื้องต้นในหลายพื้นที่แล้ว พบว่าปะการังส่วนใหญ่ได้ฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพเดิม คาดว่าโดยภาพรวมผลกระทบจากการฟอกขาวครั้งนี้ มีผลให้ปะการังตายไปน้อยกว่า 5% จากการที่เราผ่านเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวมาหลายครั้งอย่างต่อเนื่องนานกว่า 20 ปี ทำให้เราทราบว่าความรุนแรงของผลกระทบขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญ เช่น แนวปะการังบริเวณนั้นมีปะการังชนิดที่อ่อนไหวต่อการฟอกขาวขึ้นอยู่มากหรือไม่ (เช่นปะการังเขากวาง) ถ้าพื้นที่นั้นเป็นดงปะการังเขากวางกว้างใหญ่ก็จะเกิดผลกระทบรุนแรง แต่ถ้าพื้นที่นั้นมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สูง ความรุนแรงก็จะน้อยลง นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องกระแสน้ำ ถ้าหากมีกระแสน้ำไหลเวียนดี ความรุนแรงของการฟอกขาวก็จะน้อยลง ตัวอย่างในทะเลอันดามัน มีความพิเศษในเรื่องมวลน้ำเย็นที่มากับคลื่นใต้น้ำ (internal waves) ซึ่งมีอิทธิพลทำให้ชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะที่อยู่ใกล้ไหล่ทวีป (เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน เกาะราชา) ได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวน้อยลงเพราะอุณหภูมิน้ำทะเลผันผวน ไม่สูงอยู่ตลอดเวลาเหมือนฝั่งด้านอื่น
ดงปะการังเขากวางบริเวณเกาะแอว จ. ภูเก็ต ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการฟอกขาวปี 2553
นอกจากนี้ เรายังเห็นได้ชัดเจนว่าแนวปะการังโดยภาพรวมของประเทศเปลี่ยนไป ในทางลบ คือมีสภาพที่เสียหายมากยิ่งขึ้น ประชาคมของปะการัง (coral communities) ในหลายพื้นที่เปลี่ยนไป พบว่าหลายแห่งมีชนิดพันธุ์ลดน้อยลง กลับมีชนิดพันธุ์ที่ทนต่อการฟอกขาวขึ้นโดดเด่นมากขึ้น เช่น ปะการังโขด (Porites lutea) ซึ่งชนิดนี้ถึงแม้จะฟอกขาวมากเช่นกัน แต่สามารถทนอยู่ได้ดีพอสมควร พบว่าในปี 2553 พวกนี้เกิดการฟอกขาวรุนแรง ประมาณ 25-50% จะตายไป ส่วนอีก 50-75% สามารถทนและฟื้นตัวได้
ปะการังโขด (Porites lutea) เป็นปะการังที่ฟอกขาวได้มากเช่นกัน แต่ก็สามารถทนต่อสภาวะที่ฟอกขาวได้ดีพอสมควร เป็นโอกาสทำให้ปะการังชนิดนี้ขึ้นขึ้นโดดเด่น (dominant) ในแนวปะการังทั่วไป
แล้วประสบการณ์ทำให้เรารู้ว่าปะการังมีการปรับตัวต่อสภาพอุณหภูมิที่สูงผิดปกติหรือเปล่า? เป็นที่น่าสังเกตเหมือนกันว่าในปี 2559 ที่เกิดการฟอกขาวนั้น ปะการังเขากวางมีแนวโน้มว่าจะต้านต่อการฟอกขาวได้ดีขึ้น ปะการังพวกนี้อาจจะเป็นพวกที่เคยพบเห็นเป็นวัยอ่อน เมื่อคราวที่ฟอกขาวปี 2553 ซึ่งขณะนั้นปะการังพวกนี้มีขนาดประมาณ 1 ซม. เท่านั้น นักวิชาการของศูนย์วิจัยฯ สนใจในเรื่องนี้ ได้เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อปะการังเพื่อศึกษาทางพันธุกรรมต่อไป ทางศูนย์วิจัยฯ ยังพัฒนารูปแบบการเก็บข้อมูล เก็บปัจจัยตัวชี้วัด “Reef Resiliency” ซึ่งมีความหมายว่าศักยภาพของแนวปะการังที่สามารถดำรงสภาพของระบบนิเวศอยู่ได้ถึงแม้ได้รับผลกระทบ (เช่นผลกระทบจากการฟอกขาว) หรืออาจกล่าวได้ว่าแนวปะการังนั้นมีความยืดหยุ่น หรือมีภูมิต้านทานต่อผลกระทบ ถึงแม้จะเสียหายแต่ก็สามารถฟื้นตัวได้ ปัจจัยตัวชี้วัดที่กำลังดำเนินการเก็บข้อมูลอยู่ในปัจจุบัน จะครอบคลุมแนวปะการังต่างๆ ทั่วฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยกว่า 200 แห่ง ปัจจัยตัวชี้วัดที่สำคัญ 22 ตัว ที่นำมาวิเคราะห์ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1) ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ปกคลุมพื้นที่ของปะการังที่มีชีวิตความหลากหลายของชนิดปะการัง ปริมาณมากน้อยของชนิดปะการังที่ทนหรือต้านต่อการฟอกขาวได้ ระดับความรุนแรงของการฟอกขาวครั้งที่ผ่านมา อัตราการอยู่รอดจากการฟอกขาวครั้งที่ผ่านมา โอกาสที่จะได้รับตัวอ่อนปะการังจากแนวปะการังแหล่งอื่น ปริมาณปลาเศรษฐกิจ ปริมาณปลาที่เป็นผู้ล่า (โดยเฉพาะปลาเก๋า) ปริมาณปะการังตัววัยอ่อนในพื้นที่ ปริมาณปะการังโขดขนาดใหญ่ ความหลากหลายและปริมาณปลาประเภทกินสาหร่าย ปริมาณปลาดาวหนามซึ่งเป็นสัตว์กินปะการัง ปริมาณสัตว์ที่ขึ้นแก่งแย่งพื้นที่กับปะการัง โรคที่เกิดกับปะการัง ความเชื่อมโยงกับระบบนิเวศอื่นๆ(เช่น ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล) ที่อยู่ใกล้เคียง 2) ปัจจัยทางเคมี-กายภาพ ได้แก่ ผลกระทบทางกายภาพจากกิจกรรมมนุษย์ (การแตกหักเสียหายของปะการัง) ปริมาณมลพิษ-น้ำเสียที่ปล่อยลงสู่ทะเล ปริมาณตะกอนแขวนลอยในน้ำ สภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการอยู่รอดจากจากการฟอกขาว (เช่น ร่มเงาจากเกาะที่เป็นภูเขาสูง กระแสน้ำ คลื่น ฯลฯ) 3) ปัจจัยทางการจัดการ ได้แก่ การมีมาตรการจัดการดูและพื้นที่ และความรุนแรงของการประมง ในเบื้องต้น ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลresilience ในบางพื้นที่ โดยเปรียบเทียบระหว่างหมู่เกาะอาดัง-ราวี ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่อยู่ไกลฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากมนุษย์น้อย กับเกาะแถบจังหวัดภูเก็ตซึ่งอยู่ใกล้ชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ ผลการวิเคราะห์ก็เห็นชัดเจนว่าแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะอาดัง-ราวีมี resilience สูงกว่ามากการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้าน resilience นี้ จะช่วยในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยอาศัยความเชื่อมโยงของระบบนิเวศ (อาจเป็นระบบนิเวศแบบเดียวกัน หรือคนละระบบนิเวศแต่เกื้อหนุนกัน เช่น ระบบนิเวศป่าชายเลน ระบบนิเวศหญ้าทะเล) การวิเคราะห์ข้อมูลจะทำให้เราเข้าใจและเห็นความเชื่อมโยงของระบบนิเวศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะช่วยให้เราสามารถออกแบบจัดการพื้นที่หรือจัดทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเลได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
ข้อมูล : นายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ
วันที่ : 1 กุมภาพันธ์ 2560