icon-coral

สถานการณ์ปะการังฟอกขาว ปี พ.ศ. 2565

          ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่มีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลนั้น เป็นปัจจัยคุกคามที่สำคัญของปะการัง สามารถสร้างความเสียหายต่อปะการังครอบคลุมพื้นที่ได้โดยกว้าง ซึ่งในประเทศไทยมีรายงานการเกิดปะการังฟอกขาวหลายครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 และแต่ละครั้งจะมีความรุนแรงต่างกันไป โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งได้ทำลายปะการังในหลายพื้นที่ ในบางพื้นที่ปะการังมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 90 ยิ่งไปกว่านั้นมีการศึกษาว่าปะการังฟอกขาวมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เห็นถึงความสำคัญและพัฒนาระบบประเมินการเกิดปะการังฟอกขาวขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เป็นปัจจุบันทั้งจากการลงพื้นที่สำรวจของเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเครือข่ายต่าง ๆ ประกอบด้วยมหาวิทยาลัย และนักดำน้ำอาสาสมัคร และแจ้งเหตุและให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อนักวิชาการและสาธารณะสำหรับการเตรียมพร้อมและรับมือให้แก่ประชาชนและอ้างอิงทางวิชาการต่อไปผ่านทางเว็บไซต์ https://thailandcoralbleaching.dmcr.go.th

          ตั้งแต่ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ทำการคาดการณ์การเกิดปะการังฟอกขาวจากข้อมูลสมุทรศาสตร์ และสถานะของปรากฏการณ์ El Niño Southern Oscillation ซึ่งบ่งชี้โดยค่าดัชนี Oceanic Nino Index (ONI) พบว่า อุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณกลางมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวโน้มเป็นกลาง (Neutral) ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2564 และเริ่มเข้าสู่สถานะ Negative ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึงการเข้าสู่สถานะ Cold phase หรือปรากฏการณ์ La Niña ทั้งนี้ ลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลโดยเฉพาะในทะเลอันดามัน มีแนวโน้มมีค่าต่ำกว่าปกติในช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ลักษณะดังกล่าว อาจบ่งชี้แนวโน้มการเปลี่ยนทิศทางลมมรสุมเร็วขึ้น สอดคล้องกับแบบจำลองของ NOAA และจากระบบที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพัฒนาขึ้นมา ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ปรากฏแนวโน้มการเกิดปะการังฟอกขาวในน่านน้ำไทยในปี พ.ศ. 2565 หรือหากเกิดขึ้นจะอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง รวมถึงได้มีการประชุมเพื่อวางมาตรการรับมือปะการังฟอกขาวที่สามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาหรือลดผลกระทบจากสถานการณ์การฟอกขาวต่อปะการังในระดับต่าง ๆ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
          1) ระยะการฟอกขาวเล็กน้อย ใช้มาตรการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจจะส่งผลทำให้สถานการณ์ของแนวปะการังที่เริ่มฟอกขาวเสื่อมโทรมลง หรือทำให้ปะการังเกิดการอ่อนแอลง
          2) ระยะฟอกขาวปานกลาง ใช้มาตรการลดกิจกรรมที่ดำเนินการในแนวปะการังโดยตรง
          3) ระยะการฟอกขาวรุนแรง ใช้มาตรการงดเว้นกิจกรรมในบริเวณที่มีการฟอกขาวรุนแรง ดำเนินการปิดพื้นที่

สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปี 2565 มีความรุนแรงในระดับต่ำ
          จากผลการรวบรวมและติดตามข้อมูลการเกิดปะการังฟอกขาวตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 พบปะการังมีสีจางลงช่วงปลายเดือนเมษายน และพบปะการังฟอกขาวในบางพื้นที่ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ได้แก่ เกาะโหลน จังหวัดภูเก็ต เกาะไข่ จังหวัดชุมพร (ปะการังฟอกขาวร้อยละ 1 – 10 ของปะการังมีชีวิต) เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเกาะขาม จังหวัดสงขลา (ปะการังฟอกขาวร้อยละ 11 – 50 ของปะการังมีชีวิต) ทั้งนี้ผลการตรวจสอบข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเลทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามันจากสถานีติดตามอุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณชายฝั่ง พบว่าในทุกสถานีตรวจสอบไม่มีช่วงที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนเร็วและมีฝนตกเป็นช่วง ๆ

สถานการณ์ปะการังฟอกขาวภาพรวมทั้งประเทศ ระหว่างเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 (ช่วงที่เกิดปะการังฟอกขาวสูงสุด) และอุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลในสถานีต่าง ๆ

สถานการณ์ปะการังฟอกขาวภาพรวมทั้งประเทศ ปี 2565 (เปรียบเทียบกับปี 2563 และ 2564)

ความหลากหลายทางชีวภาพของปลาในแนวปะการัง
          การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของปลาในแนวปะการัง จากรายงานของ อุกกฤต (2550) พบว่า จำนวนชนิดปลาในแนวปะการังฝั่งอันดามันมีจำนวน 890 ชนิด และฝั่งอ่าวไทยมีจำนวนประมาณ 400 ชนิด สำหรับการศึกษาของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 164 สถานี ในปีงบประมาณ 2565 พบปลาในแนวปะการังทั้งหมด 377 ชนิด (Species) โดยเป็นปลาที่สำรวจพบใน 2565 แต่ไม่พบในการสำรวจระหว่างปี 2563 – 2564 จำนวน 55 ชนิด เมื่อพิจารณาความหนาแน่นของปลาที่สำรวจพบในแนวปะการังโดยรวมทั้งประเทศ พบว่าปลากลุ่มเด่นที่พบ (ร้อยละ 70 – 80) ประกอบด้วยปลาจาก 8 วงศ์ คือ ปลาสลิดหิน (Pomacentridae) ปลาอมไข่ (Apogonidae) ปลากล้วย (Caesionidae) ปลาหางแข็ง (Carangidae) ปลาบู่ (Gobiidae) ปลาสาก (Sphyraenidae) ปลากระดี่ทะเล (Pempheridae) และปลากะพง (Lutjanidae) โดยสถานีสำรวจที่พบจำนวนชนิดปลาสูงที่สุด คือ บริเวณสถานีเกาะดอกไม้ จังหวัดพังงา พบจำนวน 102 ชนิด

          เมื่อพิจารณาจำนวนชนิดปลาเฉลี่ยที่พบทั้งประเทศ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 39.5±18.7 ชนิด และเมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่าจังหวัดภูเก็ตสำรวจพบจำนวนชนิดปลาเฉลี่ยสูงที่สุด (59 ชนิด) รองลงมา คือ จังหวัดพังงา (58 ชนิด) และจังหวัดชุมพร (43 ชนิด) ตามลำดับ ค่าดัชนีความหลากหลายทางชนิด (Species diversity index) ของปลาในแนวปะการังรวมทั้งประเทศ มีค่าอยู่ระหว่าง 0.9 – 2.5 และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.0±0.4 เมื่อพิจารณาในรายจังหวัด พบว่าจังหวัดปัตตานี มีค่าเฉลี่ยความหลากหลายสูงที่สุด รองลงมา คือ จังหวัดภูเก็ต โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.5±0.1 และ 2.2±0.4 ตามลำดับ

ค่าดัชนีความหลากหลายทางชนิดของปลาในแนวปะการัง ประกอบช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (รูปบนซ้าย) จำนวนชนิดพันธุ์ปลาในแนวปะการัง ประกอบช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (รูปล่างซ้าย) และแผนที่แสดงการแพร่กระจายของดัชนีความหลากหลายทางชนิดของปลาในแนวปะการัง (รูปขวา)

ตัวอย่างปลาชนิดเด่นที่สำรวจพบในแนวปะการัง

ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่ในแนวปะการัง
          การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่ (Macrobenthos) ในแนวปะการัง จำนวน 143 สถานี ในปีงบประมาณ 2565 พบสัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่ทั้งหมด 169 ชนิด (Species) โดยเป็นสัตว์พื้นทะเลที่สำรวจพบในปีงบประมาณ 2565 แต่ไม่พบในการสำรวจระหว่างปีงบประมาณ 2563 – 2564 จำนวน 68 ชนิด เมื่อพิจารณาความหนาแน่นของสัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่ที่สำรวจพบในแนวปะการังโดยรวมทั้งประเทศ พบว่าสัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่กลุ่มเด่นที่พบ (ร้อยละ 75) ประกอบด้วยสัตว์จาก 10 กลุ่ม คือ ได้แก่ เม่นทะเล (Class Echinoidea) เห็ดทะเล (Order Corallimorpharia) ปลิงทะเล (Genus Synaptula) หอยมือเสือ/หอยมือแมว (Genus Tridacna) ดอกไม้ทะเล (Genus Heteractis) หนอนฉัตร/หนอนท่อ (Sabellastarte spectabilis) เพรียงหัวหอม (Clavelina sp.) หอยมะระ (Drupella cornus) กุ้งปลาบู่ (Alpheus bellulus) และกุ้งขาว (Litopenaeus vannamei) สถานีสำรวจที่พบจำนวนชนิดสัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่สูงที่สุด คือ บริเวณสถานีเกาะบอน พบจำนวน 30 ชนิด

          เมื่อพิจารณาจำนวนชนิดพันธุ์สัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่ในแนวปะการังเฉลี่ยทั้งประเทศ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 10.3±5.8 ชนิด และพิจารณาจำนวนชนิดสัตว์พื้นทะเลเฉลี่ยเป็นรายจังหวัด พบว่าจังหวัดตรังและจังหวัดภูเก็ตสำรวจพบจำนวนชนิดของสัตว์พื้นทะเลเฉลี่ยสูงที่สุด 16 ชนิด เท่ากัน รองลงมา คือ จังหวัดปัตตานี และจังหวัดพังงา พบเฉลี่ย 15 และ 14 ชนิด ตามลำดับ ค่าดัชนีความหลากหลายทางชนิด (Species diversity index) ของสัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่ในแนวปะการังรวมทั้งประเทศ มีค่าอยู่ระหว่าง 0 – 1.8 และมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.1±0.7 เมื่อพิจารณาในรายจังหวัด พบว่าจังหวัดปัตตานี มีค่าเฉลี่ยความหลากหลายสูงที่สุด รองลงมา คือ จังหวัดภูเก็ต โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.8±0.0 และ 1.8±0.7 ตามลำดับ 

ค่าดัชนีความหลากหลายทางชนิดของสัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่ในแนวปะการัง ประกอบช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (รูปบนซ้าย) จำนวนชนิดพันธุ์สัตว์พื้นทะเลในแนวปะการัง ประกอบช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% (รูปล่างซ้าย) และแผนที่แสดงการแพร่กระจายของดัชนีความหลากหลายทางชนิดของสัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่ในแนวปะการัง (รูปขวา)

ตัวอย่างสัตว์พื้นทะเลขนาดใหญ่ชนิดเด่นที่สำรวจพบในแนวปะการัง